Intermediary

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นส่วนงานวิชาการภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจัดตั้งขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 7 คณะ อันประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นสะพานแห่งการสร้างนวัตกรรม (Bridge for Innovation) ข้ามหุบเหวแห่งความท้าทาย (Valley of Challenge) โดยเชื่อมโยงและผสานการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนสังคมที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยบนพื้นฐานของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย (ผลงานวิจัย นักวิจัยและเครื่องมือวิจัย) มาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลักดันองค์ความรู้/งานวิจัยให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ (Research Commercialization) การสร้างธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) การทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในองค์รวม (Total Value Creation) และการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนโดยการบูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการหลักของมหาวิทยาลัยที่เพิ่มเติมขึ้นมา นอกเหนือจากกระบวนการสอนและการทำวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ

ความเชี่ยวชาญ จุดเด่น และ ผลงาน

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการออกแบบกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจให้เหมาะกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับแนวคิด (Idea) จนถึงการเติบโตหรือขยายตลาด (Scale up) โดยมีการยึดโยงเข้ากับสถานที่ต่างๆ ภายใต้การบริหารงานโดยอุทยานฯ เพื่อเป็นอำนวยความสะดวกและสร้างระบบนิเวศให้เหมาะกับระดับและความพร้อมของผู้ประกอบการ 

นอกจากนี้อุทยานฯ ยังรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ภาคการศึกษา ธนาคาร เพื่อให้เกิดเครือข่ายและเกิดการต่อยอดทางธุรกิจ 

ดังต่อไปนี้จะเป็นประสบการณ์การทำงานในรูปแบบของ Intermediary ที่ผ่านมาของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2555-2563

โครงการภาครัฐ ได้แก่

  • โครงการกิจกรรมสร้างและพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่สู่การเป็น Smart SMEs โครงการสร้างและพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เชื่อมโยงระบบดิจิทัล (Lanna Digital Economy for SMEs) (พ.ศ.2560)
  • โครงการศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจรภาคเหนือ Northern Herb Innovation – Total Solution Center : N-HITSC (พ.ศ.2560)
  • โครงการเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการจากกระบวนการ Spin-out และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง (พ.ศ.2561)
  • โครงการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่องค์กรดิจิทัล (Business Transformation to Digital Firm) (พ.ศ.2561)
  • กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางการค้าและจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สู่การเป็นนักการตลาดสากล (พ.ศ.2562)
  • โครงการการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจอาหารด้วยนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) (พ.ศ.2562)
  • กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือสู่การสร้างธุรกิจแบบยั่งยืนภายใต้โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมการผลิตอัจฉริยะในอุตสาหกรรมอาหาร (Northern Thailand Food Valley to Smart Industry 4.0) (พ.ศ.2562)
  • กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟตลอดห่วงโซ่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือ (Northern Boutique Arabica Coffee Center) (พ.ศ.2563)         

โครงการภาคเอกชน ได้แก่

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึง ปี พ.ศ.2562 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ กระบวนการ การบริหารจัดการ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในเขตภาคเหนือ และวิสาหกิจ เป็นจำนวน 546 โครงการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ให้บริการอื่นๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs และวิสาหกิจ ในเขตภาคเหนือ เป็นจำนวน 524 บริษัท