ด้วยความมุ่งมั่นในการนำประเทศไทยก้าวพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” จำเป็นต้องยกระดับความสามารถผู้ประกอบการไทยให้กลายเป็น “ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม” (Innovation Driven Enterprise หรือ IDE) หมายถึงองค์กร, บริษัท หรือธุรกิจที่นำนวัตกรรมมาใช้สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในมิติต่างๆ ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการนำพาเศรษฐกิจชาติ เนื่องจากเป็นทั้งผู้ผลิตนวัตกรรม, แหล่งจ้างงาน และผู้กระจายรายได้ เพื่อพาชาติไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2579 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

แต่ความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบไทยในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม พบว่าผู้ประกอบการไทยมีการลงทุนทำวิจัยและนวัตกรรมในจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งประเทศ 

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีงานวิจัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกมากมาย แต่กลับยังไม่สามารถพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาดได้เท่าที่ควร เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือขาดองค์ความรู้ในการทำธุรกิจที่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดนวัตกรรมเหล่านั้นมาสู่ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเชิงลึกด้าน Deep Science and Technology

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้ตอบรับนโนบาย Thailand 4.0 ในการสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้และนวัตกรรมของรัฐบาล จึงได้จัดตั้ง แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises : IDEs) หรือเรียกสั้นๆ ว่า แผนงาน IDEs เพื่อดำเนินการสนับสนุนทุนบางส่วนแก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium enterprise) และใหญ่ (Large enterprise) สำหรับจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรตัวกลาง (Intermediary) และหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IBDS)   บพข. มีความคาดหวังว่ากลไกการทำงานนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ที่สมบูรณ์และเข้มแข็งยิ่งขึ้น อันนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน