Intermediary

“สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร” ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 โดยมีชื่อเรียกอย่างย่อว่า “สถาบันผลิตผลเกษตรฯ” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “Kasetsart Agricultural and Agro-Industrial Product Improvement Institute” หรือ KAPI

ความเชี่ยวชาญ จุดเด่น และ ผลงาน

สถาบันผลิตผลเกษตรฯ เป็นหน่วยงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้และมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรและทรัพยากรอื่นๆ โดยมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร (Non- Food) 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. ด้านเส้นใยธรรมชาติและวัสดุชีวฐาน (Natural fibers and bio-based materials) มุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์และแสวงหาพอลิเมอร์ธรรมชาติ วัสดุคอมพอสิทจากชีวมวลทางเกษตร วัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร ขยะสิ่งทอ หรือจากกระบวนการชีวสังเคราะห์ของจุลินทรีย์ เพื่อลดการใช้พอลิเมอร์สังเคราะห์ ศึกษาลักษณะเฉพาะ ปรับปรุงสมบัติตามมาตรฐานเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้านบรรจุภัณฑ์ สิ่งทอและสิ่งทอเทคนิค โดยมีวัสดุชีวฐานจากงานวิจัย ได้แก่ คอมพอสิทและเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยและสิ่งทอย้อมสีธรรมชาติ กระดาษพิเศษ ไฮโดรเจล พอลิเอสเทอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและคอมพอสิทยางธรรมชาติ

2. ด้านสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bio-active ingredients) แบบครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การผลิตและขยายพันธุ์พืชด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเลี้ยงเซลล์หรือผลิตจุลินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีการหมักไปจนถึงเทคโนโลยีการสกัดและการนำส่งสาร รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง สารสกัดทางธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพของสถาบันสามารถนำไปใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์โดยมีผลงานวิจัยเชิงลึกรับรองประสิทธิผลและคุณภาพ

3. ด้านพลังงานชีวภาพและการจัดการชีวมวลเพื่อพลังงาน (Bio-energy and biomass management) โดยปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์พืชพลังงาน การจัดการแปลงปลูก การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานและให้บริการด้านวิชาการด้วยมาตรฐานระดับสูง

สถาบันผลิตผลเกษตรฯ ยังให้บริการทางวิชาการแบบครบวงจร เช่น การส่งเสริม แก้ปัญหา ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน SMEs เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ การบริการตรวจวิเคราะห์ และให้บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ระดับห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบ

การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นที่มีมากกว่า 15 หลักสูตร

นอกจากนี้ยังสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยการจัดประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards (TGDA) และกิจกรรมสร้างเสริมอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการเป็นคนกลาง เพื่อร่วมดำเนินงานวิจัยและถ่ายทอดนวัตกรรมและองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคเอกชนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มิใช่อาหาร เป็นเวลายาวนานกว่า 25 ปี

โดยเฉพาะด้านเส้นใยธรรมชาติ เยื่อกระดาษ วัสดุธรรมชาติ และวัสดุที่ย่อยสลายได้ ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ พลาสติกย่อยสลายได้จากมันสำปะหลัง ร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศและภายในประเทศ เช่น JICA และหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง สวทช. เป็นต้น ส่งผลให้เข้าใจปัจจัยความสำเร็จในการสนับสนุนและผลักดันนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักการออกแบบหมุนเวียน