อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นหน่วยงานระดับส่วนงานอื่น (เทียบเท่าคณะ/สถาบัน) จนถึงปัจจุบันมีระยะเวลาการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 16 และได้มีส่วนร่วมร่วมเป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 15 แห่ง โดยได้เข้าเป็นเครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ที่มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นแม่ข่าย และดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 7 ปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้รับอนุมัติเปลี่ยนชื่อจากสภามหาวิทยาลัย เป็น “อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม” (Science And Social Innovation Park, SSIP-TSU) เพื่อตอบสนองปณิธานและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านนวัตกรรมสังคม และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทักษิณและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยได้กำหนดพันธกิจทางยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. การประสานและขับเคลื่อนการนำวิชาการเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการบ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรและบัณฑิตในมหาวิทยาลัยทักษิณ
2. การสนับสนุนการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) สนับสนุนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย (Research Utilization) ของมหาวิทยาลัยทักษิณสู่เชิงพาณิชย์ และสร้างสังคมผู้ประกอบการให้แก่นิสิต คณาจารย์ บุคลากร และบุคคลทั่วไปผ่านกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ
3. การให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับชุมชนในพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในรูปแบบคลินิกเทคโนโลยี โดยประสานงานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
4. การให้บริการด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การจัดทำฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการให้บริการและพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนโดยประสานเป็นเครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้และระดับประเทศ
ความเชี่ยวชาญ จุดเด่น และ ผลงาน
อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ มีตัวอย่างผลงานเด่นที่ผ่านมา เช่น
- การสนับสนุนและร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ในการยกระดับธุรกิจเชิงนวัดกรรม ให้การบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน การทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
- การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่โดยเป็นหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคใต้ ได้รับการสนับสนุนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562) มีผลงานต้นแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมสะสมจำนวน 49 ผลงาน เช่น ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยโพแทสเซียมจากเถ้าชีวมวล ผลิตภัณฑ์จากผักเหลียงใบใหญ่ เนื้อปลากระพงรมควัน (Bara Mumdee) นวัตกรรมเครื่องเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด เครื่องผลิตกรดอะมิโนผงจากเศษเหลือหัวปลาและก้างปลาทะเลด้วยกระบวนการทําแห้งแบบพ่นฝอย
- การมีส่วนสร้างระบบนิเวศในการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยผ่านการประสานงานจากแหล่งทุนสนับสนุนทั้งจากเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ธนาคารออมสิน และ NIA โดยมีพื้นที่กลางในการส่งเสริมกิจกรรม (TSU Co-Working Space) กิจกรรมอบรมความรู้และทักษะ เวทีการประกวดแผนธุรกิจ สนับสนุนงบประมาณและการให้คำปรึกษา เป็นต้น
- การมีส่วนร่วมเป็นแกนนำในการพัฒนาการบริการวิชาการให้กับพื้นที่พัทลุง ได้แก่ โครงการโอทอปนวัตวิถีพัทลุง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โครงการภาพอนาคตแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม (Social Foresight) ในพื้นที่พัทลุง โดยการทำงานร่วมกับ NIA และยังเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน
- การให้บริการด้านการพัฒนานวัตกรรม เช่น บริษัทบวรเวชสมุนไพร จำกัด บริษัทสมอทองน้ำมันปาล์ม จำกัด และบริษัทตรังน้ำมันปาล์ม เป็นต้น
นอกจากนี้มีผู้ประกอบการได้รับรางวัลเด่น ๆ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนเคยนิคะ (รางวัลที่ 1 นิลมังกรภาคใต้ และรางวัลสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Award xu 65) บริษัทอินโนกรีนเทค (รางวัล RSP Innovation Award และรางวัลสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Award ปี 65) บริษัทบวรเวชสมุนไพร จำกัด (รางวัลที่ 2 ระดับประเทศ นิลมังกร ปี พ.ศ. 2565) บริษัทไอละมุล จำกัด (รางวัลที่ 1 นิลมังกร ภาคใต้ ปี พ.ศ. 2566) เป็นต้น6. มีนิสิตที่ได้รางวัลระดับประเทศ (เช่น นิสิตทีม Fantastic Coconut Oil คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา และวิสาหกิจชุมชนหมากพร้าว อ.ศรีบรรณพต จ.พัทลุง ได้รับรางวัล Best of the Best ของโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ของธนาคารออมสิน) และได้รับการพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการได้จริง เช่น บริษัทซิกคอร์ (โดยนางสาวสิริลักษณ์ หนูมี) นอกจากนี้ได้ร่วมเป็นเครือข่ายกองทุนธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund Fellow) ได้คัดเลือกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศุภกรคอนโทรล) ได้รับทุนสนับสนุนยุววิสาหกิจเริ่มต้นในโครงการโรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วม เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท เป็นต้น

