สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรได้รับการจัดตั้งและแบ่งส่วนราชการเป็นหน่วยงานใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ให้เน้นผลิตภัณฑ์ มีชื่อเรียกอย่างย่อๆว่า“สถาบันผลิตผลเกษตรฯ” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “Kasetsart Agricultural and Agro-Industrial Product Improvement Institute” หรือ KAPI โดยมีค่านิยมองค์กร K= Knowledge A = Agility P = Performance I = Integrity ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีพอลิเมอร์และคอมพอสิท ซึ่งเดิมส่วนหนึ่งได้เคยอยู่รวมกับศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีเส้นใยธรรมชาติและพลังงานทดแทน ของสถาบันผลิตผลเกษตรฯ ซึ่งได้จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2552
ในปัจจุบันความเชี่ยวชาญและงานวิจัยของนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวทางด้านพอลิเมอร์ได้เพิ่มมากขึ้นและความสำคัญของพอลิเมอร์ที่มีใช้ในโลกปัจจุบันและอนาคตที่จะเน้นกระบวนการผลิตและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 emission) ที่จะมีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) ดังจะเห็นได้ว่ามีการรณรงค์การใช้วัตถุดิบที่มาจากวัสดุในธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติหรือย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากจุลินทรีย์ บางครั้งก็ใช้วัตถุดิบที่หมุนเวียนได้ (renewable resource) สามารถลดขยะซึ่งเป็นที่มาของปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดการผลิตพลาสติกสังเคราะห์ที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันโดยสามารถแบ่งประเภทงานวิจัยของศูนย์ให้ครอบคลุมทั้งทางด้านพอลิเมอร์ธรรมชาติประเภท พอลิแซคคาไรด์ (แป้ง เส้นใยเซลลูโลส) โปรตีน ยางธรรมชาติ พอลิเอสเทอร์จากแบคทีเรียและพอลิเมอร์สังเคราะห์ประเภทที่ได้จากทั้งวัตถุดิบทางชีวมวลและทางปิโตรเคมี
ดังนั้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีพอลิเมอร์และการนำไปใช้งานด้านต่าง ๆ ล้วนเป็นงานวิจัยที่จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการในปัจจุบันและอนาคต

ความเชี่ยวชาญ จุดเด่น และ ผลงาน
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีพอลิเมอร์และคอมพอสิท มุ่งวิจัยตั้งแต่เทคโนโลยีการสกัดเส้นใยธรรมชาติ ไปถึงการใช้ประโยชน์ อาทิ เทคโนโลยีการสกัดเส้นใยและเยื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การย้อมสีเส้นใยด้วยสารธรรมชาติ และการพัฒนาเป็นวัสดุคอมพอสิท เป็นต้น เทคโนโลยีการผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพ อาทิ ไฮโดรเจลจากแป้งและเซลลูโลส พอลิเอสเทอร์ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับวัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น และเทคโนโลยีด้านยางพารา อีกทั้งศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ระดับวิสาหกิจชุมชน SMEs และอุตสาหกรรมด้วยศักยภาพในการนำวัสดุชีวฐานมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลงานเด่น คือ การผลิตเยื่อพืชธรรมชาติจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าว แกนกัญชงลำต้นไผ่ ทะลายปาล์มน้ำมัน ใบสับปะรด และ เปลือกทุเรียน ด้วยกระบวนการผลิตเยื่อที่ใช้สารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตแบบใช้เทคนิคกรีนเทคโนโลยี ที่เป็นการระเบิดด้วยไอน้ำ ไม่ใช้สารเคมี
ผลที่ได้ทำให้ได้เยื่อที่มีคุณภาพที่เหมาะสมนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและอื่น ๆ รวมทั้งมีเทคโนโลยีการผลิต smart packaging ให้มีสมบัติชะลอการเสื่อมเสียของผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ โดยได้รับทุนสนับสนุนทั้งทุนจากภาครัฐ แบบ บพข รวมทั้งผลงานมีการจดอนุสิทธิบัตร และได้รับรางวัลการประกวดระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัลเหรียญเงิน และเหรียญทองแดงของการประกวด The 16th International Invention andInnovation Show& (INTARG 2023) ประเทศโปแลนด์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการผลิตเส้นใยเซลลูโลสจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร สำหรับผลิตเส้นใยปั่นผสมในสิ่งทอ หรือผลิตเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์ และการนำเศษผ้า PET มารีไซเคิลผลิตเส้นด้าย PET ใหม่เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อีกทั้งงานวิจัยด้านการใช้เศษเส้นใย ในการผลิตทรายแมว หรือการดัดแปรแป้งมันสำปะหลัง สำหรับเป็นไฮโดรเจล รวมทั้งการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผสมแป้งเทอร์โมพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมทั้งการผลิตพลาสติกชีวภาพพอลิไฮดรอกซีบิวทิเรตเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแผ่นปิดทางการแพทย์หรือการสังเคราะห์พลาสติกชีวภาพพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต (PHAs) จากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งศึกษากลไกการย่อยสลายในธรรมชาติ
