IBDS

             คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (SHRD : School of Human Resource Development) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นคณะแรกของประเทศไทยที่เปิดการสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 ภายใต้โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยมีจุดหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประเทศชาติในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ที่ต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
             รวมทั้งพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้เป็นไปตามการศึกษาแนวใหม่ที่เน้นกระบวนการคิดและแก้ปัญหาในเชิงวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน และเป็นการสร้างและสั่งสมองค์ความรู้ในสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีเอกลักษณ์และพื้นฐานของการพัฒนาตามภูมิปัญญาของสังคมไทย โดยในระยะเริ่มต้นทบวงมหาวิทยาลัย ได้เชิญ Professor Dr. Leonard Nadler จาก The George Washington University ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนพัฒนาหลักสูตร HRD ร่วมพัฒนาหลักสูตรกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
             สถาบันฯ ได้ดำเนินการยกระดับจากโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มาเป็น “คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 โดยมีภารกิจหลักด้านการสอน การวิจัย และบริการวิชาการแก่สังคม ในสาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ความเชี่ยวชาญ จุดเด่น และ ผลงาน

             คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหน่วยงานทางวิชาการแห่งเดียวที่ได้รับเกียรติเข้ารับรางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์” (Human Resource Excellence Award) จากสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2560 ประเภทองค์กร สะท้อนการเป็นองค์กรต้นแบบที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ
             นอกจากนี้คณะยังมีหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การที่ได้รับการรับรองระดับสากลจาก AUN-QA เป็นแห่งแรกของประเทศไทย รวมถึงเป็นอันดับหนึ่งที่นักศึกษาอยากเข้าเรียน พิจารณาได้จากอันดับในการสืบค้น “ป.โท HR” จาก Google และจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนมากที่สุด จึงถือได้ว่าคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นคณะอันดับ 1 ของหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการพัฒนาคนและองค์การ
             ทั้งนี้เป็นศูนย์บริการวิชาการ ที่มีความสามารถในการให้บริการวิชาการแก่องค์กรต่างๆ ผ่านความเชี่ยวชาญ 9 ด้าน คือ (1) การบริหารธุรกิจ การจัดการทั่วไปทางธุรกิจ (2) การตลาด (3) เศรษฐศาสตร์ (4) คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (5) การเงิน การบัญชี (6) อุตสาหกรรม (7) สถิติ (8) การเมือง/การปกครอง นโยบายสาธารณะ และ (9) กฎหมาย