การทำธุรกิจว่ายากแล้ว แต่การบริหาร “ธุรกิจครอบครัว” ให้เติบโตแตกกิ่งก้านสาขา ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่มีความผันผวนนั้นยากยิ่งกว่า โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะแปรสภาพจากระบบ “เถ้าแก่” สู่ระบบ “บริษัท” แล้วก็ตาม
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปี พ.ศ.2567 พบว่าประเทศไทยมีบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ “เอ็ม เอ ไอ” และบริษัทที่จดทะเบียนใน “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” กว่า 1,526 บริษัท หรือราวๆ 77.58 % ของบริษัททั้งหมดในประเทศไทย แต่มีเพียง 30% เท่านั้นที่สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 2 ได้สำเร็จ และเหลือเพียง 12% ที่ส่งไม้ต่อไปยังรุ่นที่ 3 และมีเพียง 3% เท่านั้นที่อยู่รอดไปสู่รุ่นที่ 4 ได้
กำแพงสำคัญที่ทำให้การส่งต่อธุรกิจครอบครัวล้มเหลว เกิดจากการรวมคนหลายเจเนอเรชั่นของครอบครัวเข้ามาอยู่ในองค์กรเดียวกัน ผลที่ตามมาคือความคิดที่แตกต่างกันตามความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละรุ่นมี ซึ่งนั้นทำให้ยากที่จะเห็นตรงกัน ดังนั้นการรับช่วงของการส่งไม้ต่อ การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และการเลือกกลยุทธ์จัดการธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ไปพร้อมกับการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง
กำหนด “ค่านิยมหลัก” เข็มทิศFamily Business
การมี “ค่านิยมหลัก” จะช่วยสร้างวิสัยทัศน์ของคนในบริษัทและธุรกิจให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การมีเป้าหมายตรงกัน ทำให้เกิดการตัดสินใจ และสร้างพฤติกรรมไปในทิศทางเดียวกัน เป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะจะส่งผลทำให้บริษัทในรูปแบบธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จ ทั้งยังเอาชนะหรือลดความขัดแย้งภายในลงได้ ยิ่งค่านิยมที่กำหนดขึ้นมามีความชัดเจนและน่าสนใจมากเท่าไหร่ รากฐานของธุรกิจและครอบครัวก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นมากเท่านั้น
วางบท “เจ้าของ” สวมหัวโขน “ผู้ประกอบการ”
การมีคุณลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Orientation) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตของบริษัทจากรุ่นสู่รุ่น สิ่งสำคัญคือสมาชิกในครอบครัวที่มีโอกาสเป็น “ผู้นำ” ทางธุรกิจในอนาคตจำเป็นต้องได้รับการพร่ำสอน เรียนรู้ และบ่มเพาะให้มีความเป็นผู้นำที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและกล้าตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เช่น อาจได้รับเงินทุนก้อนเล็กๆ เพื่อใช้ในการฝึกลงทุนละเรียนรู้วิธีการเป็นเจ้าของธุรกิจจากประสบการณ์ตรงก่อนเข้ามารับช่วงต่อบริษัทของครอบครัว
การเงินที่มั่งคั่งต้องมาพร้อมความมั่งคั่งทางสังคม
แม้ธุรกิจจะมุ่งเน้นการทำกำไร เพราะผลประกอบการที่มั่งคงจะสะท้อนความสำเร็จของธุรกิจให้เติบโตและอยู่รอดของบริษัท แต่ในรายงานประจำปีของ KPMG Private Enterprise และ STEP Project Global Consortium กลับสะท้อนมุมมองที่ต่างออกไปว่า นอกเหนือจากผลประกอบการทางด้านการเงินของธุรกิจครอบครัวที่มั่งคั่งแล้ว ความมั่งคั่งทางสังคม (Socioemotional Wealth) ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ครอบครัวต้องสร้าง รักษา รวมถึงปกป้องไว้ เพราะสามารถใช้ชี้วัดความสำเร็จได้ ซึ่งความมั่งคั่งทางสังคมมักจะหายากในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว
ยอมรับความต่างระหว่างรุ่น ไม่ก้าวล่วงอำนาจ
การที่ธุรกิจครอบครัวจะประสบความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นนั้น นอกจากการให้ความสำคัญกับการถ่ายมอบอำนาจ และการสร้างคุณลักษณะของผู้ประกอบการในผู้นำรุ่นต่อๆ มาแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างระหว่างสมาชิกในครอบครัวแต่ละรุ่น รวมถึงการเข้าใจและไม่ก้าวก่ายขอบเขตอำนาจของกันและกัน นอกจากนี้ยังต้องตามกลยุทธ์องค์กร และมีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน
คนรุ่นเก่าแม้จะมีความสามารถและประสบการณ์ในการฝ่าคลื่นลมของสนามธุรกิจมาได้ยาวนาน แต่สิ่งสำคัญอย่าลืมว่า โลกหมุนเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปิดใจให้เจเนเรชั่นใหม่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนบริษัทก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน
เก็บรักษาและส่งต่อทรัพย์สิน
ท้ายที่สุดไม่ว่าธุรกิจครอบครัวจะมีทรัพย์สินมากหรือน้อย มีขนาดเล็กหรือใหญ่ หรือจะทำธุรกิจในด้านใดก็ตาม สิ่งที่ควรมี คือ การวางแผนเพื่อเก็บรักษาและส่งต่อทรัพย์สิน รวมทั้งธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน โดยจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว (Asset Holding Structures) ให้ข้ามผ่านความเป็นธุรกิจครอบครัว เพื่อให้สมาชิกครอบครัวรุ่นต่อไปเข้ามารับช่วงต่อหรือเพื่อจูงใจให้มืออาชีพเข้ามาร่วมบริหาร
สิ่งสำคัญคือต้องวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น (Inheritance and Wealth Transfer) โดยให้ทายาทรุ่นต่อไปเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้การส่งต่อความมั่งคั่งเป็นไปอย่างราบรื่น บางครอบครัวอาจจะใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น การจัดตั้งทรัสต์หรือผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต มาใช้ประกอบในการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งตามโจทย์ของครอบครัวด้วย
ดึงมืออาชีพร่วมบริหาร ต่อลมหายใจธุรกิจครอบครัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจครอบครัวอาจมีผลประกอบการต่ำ หรือขาดความทะเยอทะยานหากบริหารโดยสมาชิกในครอบครัว การเปิดทางให้ทีมบริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารองค์กรของธุรกิจครอบครัวจึงเป็นทางเลือกที่ไม่แย่ แต่กลับกันจะยิ่งช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความสามารถทางการแข่งขันผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่การขยายตัวไปต่างประเทศ และการกระจายธุรกิจก็จะทำได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตามการบริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดได้ในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องตระหนัก คือ การทำให้ธุรกิจครอบครัวเป็นมืออาชีพทั้งในส่วนของ “ธุรกิจ” และ “ครอบครัว” ด้วย จึงยังคงมีความจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องมีส่วนในการกำกับ หรือดูแลธุรกิจในภาพรวม รวมถึงร่วมตัดสินใจ ร่วมรับความเสี่ยง / รับภาระ ฯลฯ บริษัทก็จะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าการปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนตัดสินใจและบริหาร เนื่องจากมืออาชีพนั้นไม่ได้อยู่กับธุรกิจถาวรเหมือนเจ้าของธุรกิจโดยตรงนั้นเอง
แม้ว่าการบริหารธุรกิจครอบครัวจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่มีแกนหลักๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้นั้นสิ่งสำคัญคือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะหากก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่นไม่ได้
ความขัดแย้งภายในก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นได้
อ้างอิง