งานอบรมเชิงปฏิบัติการ “กิจกรรมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ (International Exposure)”

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการโดยวิทยากรต่างประเทศ (Inbound Program) ครั้งที่ 1  “Innovation Intermediary as a Change Agent” ภายใต้โครงการการเสริมสร้างศักยภาพตัวกลางนวัตกรรม (Innovation Intermediaries) ของประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม วันที่ 4-6 ตุลาคม 2567 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ และ นิมมาน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 คณะอนุกรรมการแผนงาน INNOVATION DRIVEN ENTERPRISE : IDE  ภายใต้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการแผนงาน IDE และเจ้าหน้าที่ บพข. ได้เข้าร่วมงานอบรมเชิงปฏิบัติการ ”กิจกรรมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ (International Exposure)” กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการโดยวิทยากรต่างประเทศ (Inbound Program) ครั้งที่ 1 “Innovation Intermediary as a Change Agent” ภายใต้โครงการการเสริมสร้างศักยภาพตัวกลางนวัตกรรม (Innovation Intermediaries) ของประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park, Chiang Mai University: CMU-STeP)

โดยช่วงเช้า ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการแผนงาน IDE ได้กล่าวเปิดงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานว่ามีกลไกในการสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพให้สามารถเป็นผู้ประกอบการ IDEs โดยมีหน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้าน Technology Transfer และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จะเป็นผู้ประสานการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการเอกชน และ ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง Vision และ Core value รวมถึงโครงสร้างองค์กรที่ต้องมีการบริหารจัดการบุคลากรถึง 200 คน และแบ่งการทำงานออกเป็น 22 ทีม โดยจะมีทีมที่บริหารจัดการผู้ประกอบการ IDEs โดยเฉพาะ รวมถึง Ecosystem บทบาทหน้าที่หลักอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การนำงานวิจัยออกสู่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Inside-out approach) 2. การวิจัยร่วมกับเอกชน (Outside-in approach) และ 3. การสร้าง Startup ที่ใช้นวัตกรรมนำในการทำงาน นอกจากนี้ มีการแนะนำข้อมูลการบริการและบทบาทของอุทยานฯ ในฐานะหน่วยงาน Intermediary เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรม โดยดำเนินงานเชื่อมโยงและผสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน ในการพัฒนาธุรกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลักดันองค์ความรู้ งานวิจัยให้เกิดการใช้งานในเชิงพาณิชย์ (Research Commercialization) สร้างธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มในองค์รวม (Total Value Creation) สู่การพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน จากนั้น รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พาผู้แทนคณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) เยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานและบริการของอุทยานฯ ด้านพื้นที่ (Service Space) สำหรับผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการเข้ามาอยู่ภายในระบบนิเวศนวัตกรรมของอุทยานฯ อาทิ ห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดอบรม ห้องจัดนิทรรศการ ห้องเอนกประสงค์สำหรับจัดงาน พื้นที่สำหรับนักศึกษาที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงพื้นที่ทดสอบตลาด NSP INNO STORE นอกจากนี้ คณะได้เยี่ยมชมบริการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI Service) อาทิ โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant: IFF) สำหรับการผลิตสินค้าแปรรูป การเช่าใช้เครื่องมือเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ กระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทการทำแห้ง หรือการดึงน้ำออกด้วยการอบแห้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ชงละลาย ผักผลไม้อบแห้ง และกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตสารสกัด สารให้กลิ่นรส น้ำมัน และการแปรรูปอาหารโดยไม่ใช้ความร้อน รวมถึงบริการส่งต่อตรวจวัดคุณภาพสารอาหารและการวิเคราะห์ต่าง ๆ จากห้องปฏิบัติการภายใต้เครือข่ายอุทยานฯ เพื่อช่วยต่อยอดผลงานวิจัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

วันที่ 5-6 ตุลาคม 2567 สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai Business Incubators and Science Parks Association: Thai-BISPA หรือ สมาคมไทยบิสป้า) ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Innovation Intermediary as a Change Agent” โดยช่วงเช้า ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการแผนงาน IDE ได้กล่าวเปิดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ และชี้แจงที่มาของการจัดทำแผนงาน IDEs  ซึ่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา/อุปสรรคที่ผู้ประกอบการเอกชนยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยผู้ซึ่งเป็น Technology developer ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงผู้ประกอบการเอกชนยังต้องการได้รับการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตมูลค่าของธุรกิจให้ได้ถึง 1,000 ล้านบาท ในอนาคต และการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรต่างประเทศ (Inbound Program) 2 ท่าน มามอบองค์ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ในมุมมองของการเป็น Innovation Intermediary และ Industry Partner ที่ดำเนินการร่วมกัน ประกอบด้วย วิทยากรหลัก Dr. SZE TIAM LIN Senior Licensing Advisor, Institute of Innovation & Entrepreneurship, Singapore Management University (SMU) และวิทยากรเสริม Mr. XANDER SIM Member, External Resource Panel, Institute of Innovation & Entrepreneurship, Singapore Management University (SMU) ซึ่งวิทยากรได้แบ่งปันประสบการของการเป็นหน่วยงานตัวกลางนวัตกรรม (Innovation Intermediaries) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมช่องว่างระหว่างสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยน์ในเชิงพาณิชย์ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การแข่งขันทางธุรกิจผ่านนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อภาคเอกชนและภาครัฐ โดยการสนับสนุนให้บริษัททำงานร่วมกับนักนวัตกรรมภายนอกเพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมภายใน และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะสร้างประโยชน์และเสริมสร้างบทบาทหน่วยงานตัวกลางนวัตกรรม (Innovation Intermediaries) รวมถึงเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมแบบเปิด การปกป้องทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนขององค์กรผ่านทรัพย์สินทางปัญญาโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กร อาทิ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า นอกจากนี้การอบรมเชิงปฏิบัติการได้จัดกิจกรรม Workshop โดยแบ่งกลุ่มหน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) ทั้งหมด 4 กลุ่ม พร้อมให้ผู้แทนกลุ่มนำเสนอแบ่งปันองค์ความรู้ด้านผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ IDEs และการจัดทำทรัพย์สินทางปัญญา โดย ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ อนุกรรมการแผนงาน IDE ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ที่สามารถแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์จากทั้งวิทยากรและหน่วยงานตัวกลาง (Intermediaries) ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานให้ได้รับประโยชน์สูงสุดได้ตามจุดประสงค์ของการจัดงาน พร้อมกล่าวปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ