วันนี้ (วันที่ 24 พฤษภาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานกลุ่ม Innovation Driven Enterprises (IDEs) ได้จัดกิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานตัวกลาง (Innovation Intermediaries Capacity Building Program) หลักสูตรระบบความคิดเชิงกลยุทธ์สำหรับหน่วยงานตัวกลางนวัตกรรมมุ่งสร้างผลกระทบสูง (Comprehensive Program on Strategic Thinking for Innovation Intermediary) ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) ทั้งปี 2566 และ ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 37 หน่วยงาน

คุณจันทิรา ยิมเรวัฒน์ วิวัฒน์รัตน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่ม IDEs บพข. ได้กล่าวเปิดการอบรม โดยชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดอบรม หน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) ซึ่ง บพข. มุ่งหวังให้เป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDEs) ด้วยยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ จึงต้องพัฒนาไปพร้อมกัน และยินดีรับฟังความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของหน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนงาน IDEs ต่อไป

กิจกรรมการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพตัวกลาง ประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ที่จะเป็นพื้นฐานและการสร้างความพร้อมให้หน่วยงานตัวกลาง มีความพร้อมต่อการพัฒนา IDEs โดยเฉพาะมุมมองทางกลยุทธ์ โดยกิจกรรมการเสริมสร้างความรู้ในครั้งนี้ คุณสุกฤต สุรบถโสภณ อดีต CEO IRPC อนุกรรมการแผนงาน IDEs ได้ร่วมบรรยายและแบ่งปันความรู้การจัดทำแผนกลยุทธ์ในหัวข้อ Strategy Development and Strategic Alignment โดยให้ความรู้เรื่องการจัดทำแผนกลยุทธ์ เครื่องมือ การผลักดันแผนไปสู่การปฏิบัติ และปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้แผนนำไปสู่การสร้างผลกระทบสูงและสามารถไปสู่การปฏิบัติได้ ตลอดจนการชี้ให้เห็นถึงบทบาทของตัวกลาง ซึ่งการจะทำให้แผนกลยุทธ์สามารถขับเคลื่อนไปได้ต้องถ่ายทอดลงไปสู่การปฏิบัติทุกระดับ หน้าที่ตัวกลาง คือต้องผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกระดับ หากสามารถกระตุ้นไอเดียจากระดับล่างขึ้นไปเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับบนได้ จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมมีการสอบถามและแลกเปลี่ยนความเห็นและปัญหาการจัดทำแผนกลยุทธ์ในกรณีที่จำเป็นต้องทำแผนจากล่างขึ้นบน (bottom up) เพราะผู้บริหารหรือเจ้าของอาจยังขาดวิธีคิดในการสร้างการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ตลอดจนการต้องปรับ Skill Set การเปลี่ยนจากการบริหารโครงการไปสู่การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ได้ ควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรในการพัฒนา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการสร้างหน่วยงานตัวกลาง (Intermediary) รวมทั้งการมองไม่ตรงกันของผู้บริหารหรือเจ้าของ ไม่ท้าทายและพอใจในสิ่งที่เติบโตไปแบบช้า ๆ ซึ่งคุณสุกฤต ให้ความเห็นว่า CEO เป็นกลไกสำคัญและต้องสร้างความเชื่อมั่นกับโครงการหรือแผนการพัฒนากับบอร์ดให้ได้ การส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันเรียนรู้กันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องที่ดีและเร็วขึ้น 

โดยกิจกรรมตลอดทั้งวันมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้บริหารธุรกิจ IDEs ในหัวข้อ Business Strategies for Growth โดย รศ.ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ประธานผู้บริหารกลุ่ม บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด มหาชน (SNPS) นอกจากนี้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ Strategies for Growth & Risk Management จากคุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และการแบ่งปันประสบการณ์จากหน่วยงานตัวกลางในโครงการ IDEs โดยคุณนิติ เมฆหมอก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับฟังประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งธุรกิจ การเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises หรือ IDEs) สร้างความแตกต่างและทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตและแข่งขันได้ การวางกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อการเติบโต (Growth Strategies) ตั้งแต่โอกาสและความท้าทายในการเติบโตของธุรกิจ การเลือกกลยุทธ์การเติบโตที่เหมาะสม การพัฒนาแผนการดำเนินกลยุทธ์การเติบโต ไปจนถึงการประเมินผลและติดตามผลกลยุทธ์การเติบโต รวมถึงข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานตัวกลางนวัตกรรม (Innovation Intermediaries) ในการส่งเสริม SMEs เป็น IDEs วิธีการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการดำเนินงานของนวัตกรรม กลยุทธ์การจัดการทรัพยากรมนุษย์เพื่อสนับสนุนการเติบโตและการจัดการความเสี่ยงของตัวกลางนวัตกรรม วิธีการรักษาสมดุลระหว่างการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ กับการจัดการความเสี่ยงด้านการเงิน การสร้างและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนวัตกรรม (Innovation Networks) เพื่อสนับสนุนการเติบโตและการจัดการความเสี่ยงมีประโยชน์อย่างไร รวมทั้งการอภิปรายผลการประเมินศักยภาพของหน่วยงานตัวกลาง ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์การประเมินตนเองตามประเด็นข้อซักถามระหว่างหน่วยงานตัวกลางและทีมวิจัย เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ช่องว่างสำหรับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพตัวกลางนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ บพข. ต่อไปในอนาคต