คงปฎิเสธไม่ได้ว่าการมาถึงของ AI ส่งผลกระทบเชิงบังคับให้แลนด์สเคปการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้หลายธุรกิจต้องก้าวเข้าสู่ภาวะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ไม่ “รุ่ง” ก็ “ร่วง”  ดังนั้นการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจให้รอบด้าน ทั้งในเชิงกลยุทธ์ระดับองค์กร, กลยุทธ์ระดับธุรกิจ และกลยุทธ์ระดับปฏิบัติการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะใน 6 ประเด็นสำคัญดังนี้

1.วางเข็มทิศชี้นำธุรกิจ : การกำหนดวิสัยทัศน์ในอนาคตขององค์กร ทำให้สมาชิกทั้งองค์กรรับทราบตรงกันถึงเป้าหมายและทิศทางที่ทุกคนในองค์กรจะต้องดำเนินไปพร้อมกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนเติบโตอย่างมีทิศทางและประสบความสำเร็จท่ามกลางคลื่นลมทางธุรกิจในยุค AI กลืนธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อบนสนามธุรกิจได้

2.มองเห็นจุดอ่อน รู้ทันความเสี่ยง : การระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ช่วยให้สามารถจัดการความเสี่ยงและวางแผนฉุกเฉินได้ นอกจากนี้องค์กรยังต้องระบุและใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง ความสามารถ และทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง สามารถทำได้ผ่านปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน ความแตกต่างด้านนวัตกรรม หรือการกำหนดเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม  

3.ปรับทัพองค์กร เคลื่อนตัวได้เร็ว : การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่คู่แข่ง ล้วนสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจอย่างมาก การวางกลยุทธ์อย่างมีชั้นเชิงเหนือคู่แข่ง ย่อมทำให้องค์กรว่องไวในการปรับตัวทันต่อภาวะการแข่งขันที่เกิดขึ้นบนสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ให้กลายเป็นข้อได้เปรียบได้เสมอ

4.ลดความซับซ้อน แก้ปมธุรกิจ : การมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนยังช่วยลดแรงกดดันให้กับธุรกิจในเรื่องของความสลับซับซ้อนของการดำเนินงาน ทั้งยังลดปัญหาภายในที่หยุ่งเหยิง เปรียบเสมือนการมีที่ปรึกษาส่วนตัวเพื่อช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงมองถึงอนาคตขององค์กร และหาแนวทางลดความเสี่ยงขององค์กรในอนาคตลงได้  อาทิ ความซ้ำซ้อนของแผนการตลาดที่ต้องทำตลอดทั้งปี ตั้งแต่การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ (ถ้าจำเป็น) แผนการออกสินค้า แผนโปรโมทสินค้า ส่งเสริมการขาย การวางแผนสื่อ และงบประมาณที่ต้องใช้ตลอดทั้งปีเพื่อให้การใช้เงินนั้นคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

5.จัดสรรทรัพยกรคุณภาพตรงความต้องการ : การบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างเหมาะสม ตั้งแต่กระบวนสรรหา  การคัดเลือก  การบรรจุ  การแต่งตั้ง  โยกย้าย รวมถึงการพัฒนาหรือการฝึกอบรม  ซึ่งส่งผลทำให้องค์กรได้เปรียบทางด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถตรงตามเนื้องานที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ยังช่วยลดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจากบุคลากร และมีแนวทางที่ชัดเจนในการวัดและประเมินผลสำเร็จ

6.เปลี่ยนทรัพยกรในมือสร้างนวัตกรรม : การจัดการเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานและใช้ทรัพยากรที่มีในมือสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในองค์กร หรืออาศัยที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในแวดวงต่าง ๆ มาร่วมพัฒนาและสร้างแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แต่มีความแตกต่าง หรือลงลึกถึงระดับการลดต้นทุนเพื่อสร้างกำไรที่มากขึ้น

หรือแม้แต่การขยายตลาดขององค์กร โดยเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งหรือมีการแข่งขันน้อย ด้วยการศึกษาตลาดเป้าหมาย ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เหมาะสมกับตลาดใหม่  ตลอดจนการการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในตลาดใหม่ๆ ไปจนถึงการยกระดับกระบวนการดำเนินการภายในองค์กรเพื่อผลลัพธ์การทำงานใหม่ที่มีประโยชน์และแตกต่าง

ดังนั้นโดยสรุปแล้วแผนธุรกิจมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างมากนับตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ รายละเอียดต่างๆ ในแผนธุรกิจมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการมีเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน มีมุมมองที่เฉียบขาดในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด และมีแรงขับเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ 

อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาทุนจากผู้ร่วมลงทุน  จากกองทุนร่วมลงทุน หรือจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเสริมความมั่งคั่งหรือต่อสายป่านให้ธุรกิจในภาวะยากลำบาก และเติมทุนในช่วงที่ธุรกิจถึงเวลาแตกกิ่งก้านสาขา 

ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการอัปสเกล จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างรอบครอบ รัดกุม ขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับการปรับเปลี่ยนให้ทันตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

อ้างอิง