วันที่ 26 กันยายน 2567 คณะอนุกรรมการแผนงาน INNOVATION DRIVEN ENTERPRISE : IDE 
ภายใต้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้เข้าร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงาน โครงการ “การปั้นธุรกิจแบบก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรม (Innovation to Business Transformation)” ภายใต้แผนงานการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven enterprise : IDEs) ขนาดใหญ่ ณ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Food Innovation and Packaging Center: FIN CMU) ในฐานะหน่วยงาน Intermediary ได้ดำเนินการโครงการ “การปั้นธุรกิจแบบก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรม (Innovation to Business Transformation)” ภายใต้แผนงานการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven enterprise : IDEs) ขนาดใหญ่ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท กรีน โกรเวอร์ จำกัด บริษัท สยาม ดีเสิร์ท จำกัด บริษัท เวลตี้ฟู้ด แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด และบริษัท ไทย-นิจิ อินดัสทรี จำกัด โดย รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการ 
ได้ชี้แจงถึงการพัฒนาบทบาทของ Intermediary ในระยะ 5 ปี ของศูนย์ฯ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมอาหารให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงพาคณะอนุกรรมการฯ เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ โดยได้เยี่ยมชมการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการพัฒนานวัตกรรมอาหารผ่านกระบวนการวิจัย วิเคราะห์ ทดสอบ ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมเพื่อขอการรับรองมาตรฐานในระดับสากลและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จากนั้นคุณพันธพงศ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรมสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ บริษัท โนเลจ อินโนเวชั่น จำกัด (INNOVATION BUSINESS DEVELOPEMENT SERVICE : IBDS) ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการภาพรวมผลการดำเนินงานระยะ 6 เดือน ของ Intermediary และแผนกลยุทธ์ธุรกิจของ IDE แต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ การวิเคราะห์ SWOT Analysis สมรรถนะขององค์กร (ความโดดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่ง) การวิเคราะห์ Business Model Canvas กลยุทธ์ของบริษัท และแนวโน้มยอดขายและรายได้ เป็นต้น

ซึ่งทางอนุกรรมการฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการโครงการ และได้ให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน Intermediary ในประเด็นของวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้จริง และนำวิสัยทัศน์ดังกล่าวไปกำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ต่อไป รวมถึงข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ ในการจัดทำ Strategic Plan แบบเชิงลึก อาทิ การวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาด หรือการทำ Competitor Analysis เพื่อเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน กลยุทธ์การตลาด และแนวโน้มของตลาด โดยการวิเคราะห์คู่แข่งอย่างละเอียด เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเป็นกลยุทธ์การขายและการตลาดที่แข็งแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างกลยุทธ์ที่แตกต่างและโดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาด

ในช่วงท้ายของการประชุมมีการดำเนินการจัดกิจกรรม Sharing 2 กิจกรรม ได้แก่ “แนวคิดธุรกิจโตแบบก้าวกระโดด ฉบับ Bow Bakery House” โดย คุณวิสิทธิ์ สดแสงเทียน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จำกัด และ“แชร์ประสบการณ์เพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven enterprise : IDEs) ขนาดใหญ่” ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร. เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (IM รุ่นที่ 1) คุณอานนท์ น้อยอ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีนีท จำกัด (IDE รุ่นที่ 1) และรศ.นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ และกลยุทธ์การก้าวข้ามปัญหา/อุปสรรคต่าง ๆ ที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน รวมถึงมีการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาคธุรกิจ (Networking)

โดยวันที่ 27 กันยายน 2567 ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้พาคณะอนุกรรมการฯ เยี่ยมชมการดำเนินงานของ บริษัท เชียงใหม่ เฮลตี้ โปรดักส์ จำกัด อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผึ้งแบบครบวงจร อาทิ น้ำผึ้ง นมผึ้ง เกสรผึ้ง และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘ฟอร่าบี : Fora Bee’ โดยจำ หน่ายน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งทั้งปลีกและส่ง ผ่านช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายประเภท อาทิ ลูกค้าประเภท OEM ในต่างประเทศ กลุ่มลูกค้าเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ไทย-นิจิ อินดัสทรี จำกัด อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นธุรกิจการผลิตและจำหน่าย ‘ขนมแครกเกอร์ข้าว’ สไตล์ญี่ปุ่นแท้ที่เน้นคุณภาพระดับพรีเมียมและดีต่อสุขภาพ ด้วยกลยุทธ์ที่เน้นนวัตกรรม การขยายตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีการส่งออกกว่าร้อยละ 90-95 ของการผลิตทั้งหมด โดยมีกลุ่มลูกค้าทั้ง Wholesale OEM B2B และ B2C ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่ง ได้มีการนำเสนอประวัติความเป็นมาของบริษัท และทิศทางแนวโน้มการทำธุรกิจในอนาคต พร้อมทั้งพาเยี่ยมชมโรงงานการผลิต รวมถึงได้รับข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากคณะอนุกรรมการฯ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจต่อไป