ด้วยศักยภาพของตลาดตะวันออกกลาง เป็นจุดเชื่อมระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ประกอบด้วย 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ไซปรัส อิสราเอล อิรัก อิหร่าน จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี และเยเมน โดยประเทศเศรษฐกิจหลักในกลุ่มนี้ ได้แก่ อิหร่านซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีขนาดเศรษฐกิจราว 1.1% 0.8% และ 0.4% ของ GDP โลก ตามลำดับ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออกน้ำมัน แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะต่อการทำเกษตร ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศสูงมากกว่า 70%

พิสูจน์ได้จากรายงานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาหรับ หรือ GCC มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี มูลค่าเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 พบมูลค่าการส่งออก 7,231 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.4 และในปี 2567 (ช่วงม.ค.-ก.พ.) มูลค่า 1,272 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.68 โดยมีการส่งออกหลัก อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย โดยมีสินค้าสำคัญที่ส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์

ประกอบกับธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2573 มูลค่าตลาดอาหารในภูมิภาคนี้จะขยายตัวสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง หรือ the Economist Intelligence Unit (EIU) ได้คาดการณ์ว่าการนำเข้าสินค้าอาหารผ่านเข้าสู่กลุ่มประเทศ GCC เพื่อการบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่สาม จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยเชิงบวกเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายเร่งอัดฉีดเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด – 19  ที่ส่งผลให้กลุ่มประเทศเหล่านี้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารฮาลาลเพื่อสุขภาพ ประเภท Functional และ Healthy Products ซึ่งสินค้าไทยมีจุดเด่นในการผลิตอาหารสุขภาพที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญมีศักยภาพการผลิตได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นโอกาสให้สินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมอาหารของไทยเข้าไปขยายตลาด 

แต่การผลักดันสินค้าไทยให้เข้าไปครองใจกลุ่มผู้บริโภคชาวตะวันออกกลาง ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานฮาลาล เพราะจากรายงานของสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (สกน.) เผยว่า ทุกวันนี้กลุ่มผู้บริโภคตะวันออกกลางยังนิยมสินค้าที่มาจากอินโดนีเซียและมาเลเซียมากกว่า เพราะเป็นกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีความเข้าใจในหลักศาสนา รวมถึงหลักตราสินค้าฮาลาลที่ถูกต้อง 

ปัจจุบันมีมาตรฐานฮาลาลในโลกมีประมาณ 50 มาตรฐาน กระจายอยู่ใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยงานสำคัญๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อวางมาตรฐานฮาลาลให้เป็นสากลและยอมรับ อาทิ Organization of the Islamic Conference (OIC) มีสมาชิก 57 ประเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในสมาชิกของ OIC องค์การ Food and Agriculture Organization (FAO) กำหนดมาตรฐานสากลของอาหารฮาลาล โดย Codex Alimentations Commission 

นอกจากมาตรฐานฮาลาลแล้ว การส่งเสริมการค้ากับประเทศมุสลิมในกลุ่ม GCC อย่างประเทศซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน บาห์เรน และกาตาร์ ซึ่งป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ยังมีกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าร่วมกัน ซึ่งกลุ่ม GCC มีการร่วมกันตั้ง Standardization & Metrology Organization for G.C.C.-GSMO หรือสำนักงานมาตรฐานและชั่ง ตวง วัด เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าของประเทศในกลุ่ม GCC ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยและความเป็นธรรม

มาถึงตรงนี้ภาคธุรกิจไทยจะเห็นโอกาสและช่องว่างในตลาดตะวันออกกลางกันมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ในการบุกตลาดตะวันออกกลางสำหรับผู้ส่งออกอาหารฮาลาลไทย ควรเจาะไปยังสินค้าพรีเมี่ยม เน้นคุณภาพสูง เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา โดยสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์เหมาะเป็นประตูด่านแรกที่น่าสนใจในการเจาะตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะดูไบ เพราะเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นจุดพักสินค้าก่อนจะกระจายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบตะวันออกกลาง รวมไปถึงทวีปแอฟริกาเหนือและยุโรปตะวันออก

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าสนใจในการเข้าถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไป อาทิ จากข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเชิงลึกจาก Global Demand Dashboard ในเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า 3 ประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และกาตาร์ มีการนำเข้า ‘ไก่และเครื่องประดับ’​ เพราะเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ทำให้สินค้าไทยครองแชมป์ตลาดเป็นอันดับ 1 เช่น ผลไม้กระป๋อง และไฟเบอร์บอร์ด เป็นต้น 

นอกจากนี้สินค้าประเภทไก่ ข้าว และผลไม้ ก็ยังเป็นสินค้าไทยที่มีโอกาสการค้าเพิ่มเติมในซาอุดีอาระเบีย เพราะเป็นสินค้าไทยที่มีศักยภาพการส่งออกทั่วโลกสูง อีกทั้งไทยมีส่วนแบ่งการนำเข้าในตลาดซาอุดีอาระเบียไม่มาก ส่วนกลุ่มผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 6.5% และมีส่วนแบ่งการนำเข้าในซาอุดิอาระเบียเพียง 0.55% โดยมีอียิปต์เป็นคู่แข่งอันดับ 1 ที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 21%  

ส่วนตุรกี ถือเป็นตลาดที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เพราะฐานกระจายสินค้าไปยังยุโรป จึงต้องการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตและกระจายสินค้าต่อ ขณะที่กาตาร์ นับเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากนั้น โดยมีอาหารทะเลกระป๋องของไทยครองแชมป์อันดับ 1 

เท่านั้นไม่พอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเตรียมเดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อไปบันทึกข้อตกลง สำหรับการส่งออกโคเนื้อไปประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการประเภทโคเนื้อ 

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มประเทศตะวันออกกลางยังมีช่องว่างอีกมากให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปขยายตลาด เพียงแต่ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้ตรงตามข้อกำหนดของหลักศาสนา รวมถึงเฝ้าระวังเสถียรภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและต้นทุนสินค้า 

อ้างอิง