ประเทศไทยขึ้นชื่อการเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตแปรรูปจากภาคเกษตรกรรมมากมายที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมาจนถึงปัจจุบัน พิสูจน์ได้จากข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รายงานว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2566 ไทยส่งออกอาหารมูลค่า 1.31 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 3.2 โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารถึง 6.6 แสนล้านบาท ทำให้ไทยก้าวมาสู่ผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก จากอันดับที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2565

ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนที่ดีในการผลิตอาหารหลากหลายประเภท โดยจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าในไทยมีพันธุ์พืชที่ทราบชื่อทางวิทยาศาสตร์มีกว่า 20,000 ชนิดกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ และในจำนวนนี้มีพืชกว่า 1,800ชนิดที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรและสามารถนไปแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรม ทั้งเวชสำอางค์ (Cosmeceuticals) อาหารเสริม (Supplementary Food) สมุนไพรแห้ง (Dried Herbs) สมุนไพรสด (Fresh Herbs) เป็นต้น

อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพของตนเอง ใส่ใจกับการบริโภคอาหารมากขึ้น และการดูแลรักษาโดยวิถีธรรมชาติ รวมถึงเปิดรับอาหารแนวทางใหม่ เช่น กลุ่มวีแกน (Veganism) กลุ่มยืดหยุ่น (Flexitarian : กลุ่มคนที่กินแบบ Vegetarian แต่ไม่ได้เข้มงวดมาก) เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2019 มีวีแกนทั่วโลกประมาณ 79 ล้านคน และร้อยละ 25 ของโลกเป็น Flexitarian 

จากแนวโน้มที่เปลี่ยนไปนี้เป็นโอกาสทางการตลาดและธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพรต่างๆ เช่น กลุ่มอาหารอนาคต (Future Foods) เวชสำอางค์ (Cosmeceuticals)อาหารเสริม (Supplementary Food) เป็นต้น ซึ่งสามารถพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Product) สามารถตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มทั้งกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มใหม่

จากรายงานของ Euromonitor บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดและธุรกิจระดับโลก ในปี ค.ศ.2021 พบว่ามูลค่าการค้าสมุนไพรทั่วโลกมีมูลค่า 54.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มีมูลค่าการค้าสมุนไพรอยู่ที่ 31.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ตามด้วยภูมิภาคอเมริกาเหนือ (North America) 8.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  และยุโรปตะวันตก (Western Europe) 8.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนทางด้านตลาดสมุนไพรของไทยนั้นมีมูลค่าสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2560 ถึง พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมมูลค่ากว่า 12,211 ล้านบาท และในปี พ.ศ.2566 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 

  • กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ 
  • กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ บัวบก มะขามป้อม ไพล ขิง กระชาย ว่านหางจระเข้ กวาวเครือขาว มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระท่อม กัญชง และกัญชา 

จากความต้องการสมุนไพรที่เพิ่มมากขึ้นของทั่วโลก จึงเป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตสมุนไพรและผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Product) เช่น อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอาหารจากประเทศไทย ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม (สกอ.) ให้ข้อมูลกลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ประกอบด้วยอาหาร 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) : ผลิตภัณฑ์อาหารที่เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย สามารถทำหน้าที่ ให้ร่างกายนอกเหนือจากความอิ่มและรสสัมผัส (ความอร่อย) ให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในด้านการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบและสภาพการทำงานของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ บำบัด หรือลดอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย แบ่งเป็น 

1.1) กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหารหรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยเพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวันโดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา (ไม่อยู่ในรูปแคปซูลหรือผง) เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ ไข่ไก่เสริมโอเมก้า-3 นมผงผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสม ของสมุนไพรจำพวกโสม เห็ดต่างๆ เป็นต้น 

1.2) กลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่นๆ

2. อาหารใหม่ (Novel Food) : การผลิตรูปแบบใหม่ที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่ไม่ได้ใช้เทคนิคการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ มีการปรับแต่งกระบวนการผลิตแบบใหม่ (โครงสร้างหรือรูปแบบอาหาร) การใช้นาโนเทคโนโลยี โดยวัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหารที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่าสิบห้าปี เช่น โปรตีนจากพืชเนื้อจากพืช นมจากพืช ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 376 พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารใหม่ Novel food

3.อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) : ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ทดแทนยาหรือ อาหารเสริมภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อโรค รูปแบบทาน หรือดื่มแทนอาหารหลักบางมื้อ 

4. อาหารอินทรีย์ (Organic Food) : ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ผลิตหรือแปรรูป โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่สังเคราะห์ทางเคมี ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและ ปุ๋ยที่มาจากกากของระบบบำบัดน้ำเสีย ตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตระหนักถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบและส่วนผสม

จากงานวิจัยของ IMARC Group ในปี ค.ศ.2023 รายงานว่า ตลาดและธุรกิจอาหารอนาคตทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 12.11 ในช่วงปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2571 และนิตยสาร Forbes ยังคาดอีกว่าตลาด Future Foods ของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2568 

ส่วนในประเทศไทยนั้นการส่งออกและธุรกิจอาหารอนาคตนั้นยังเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม (สกอ.) รายงานว่าการส่งออกอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 มีมูลค่า 3,160.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 108,267.50 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม กัมพูชา จีน และ เมียนมา ตามลำดับ โดยสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกจากปี พ.ศ.2564 เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดขอโควิด-19 และความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จึงสนใจแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตของอาหารมากขึ้น 

จากสัญญาณบวกที่ดีเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสมุนไพรไทยหรืออาหารอนาคตในการต่อยอดนวัตกรรม เพื่อสร้างการเติบโตที่ดีในตลาดนี้ต่อไป

อ้างอิง